ความจงรักภักดี = โอกาสทางธุรกิจ HR ต้องสรรหาคนแบบไหนมาทำงาน ?

  • 24 Jan 2025
  • 9008
หางาน,สมัครงาน,งาน,ความจงรักภักดี = โอกาสทางธุรกิจ HR ต้องสรรหาคนแบบไหนมาทำงาน ?

จากบทความที่แล้ว ผมได้พูดถึงพฤติกรรมของคนทำงาน Gen Y กับความจงรักภักดีต่อองค์กร (GEN Y ไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กร จริงหรือ ?) ซึ่งส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง การสรรหาคนทำงานหรือบริหารคนในองค์กรให้มีความจงรักภักดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง HR จะต้องบริหารอย่างไร เรามาติดตามกันต่อในบทความนี้เลยครับ

อย่างที่เราทราบกันดีว่าพนักงานเจนวาย ซึ่งสำหรับหลายๆที่ก็ได้กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ในองค์กร จึงต้องทำให้คนกลุ่มนี้เกิดความจงรักภักดีต่อองค์กร (ซึ่งมักได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นแนวคิดที่มุ่งนำมาศึกษาและปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาคนทำงานเปลี่ยนงานบ่อย) เพื่อที่องค์กรจะแสวงหาแนวทางรับมือได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกับปัญหาการลาออกและต้องรับเข้าใหม่ทดแทนบ่อยครั้ง ซึ่งปัญหาเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบทางลบต่อประสิทธิผลขององค์กรในแง่ต้นทุนที่เป็นตัวเงิน เช่น ต้นทุนการสรรหาคัดเลือก ต้นทุนการลงประกาศโฆษณาเพื่อสรรหา ต้นทุนการสัมภาษณ์และคัดเลือก ต้นทุนการฝึกอบรมพัฒนาพนักงานใหม่ กับต้นทุนอีกหลายประการที่ไม่ใช่ตัวเงินขององค์กร เช่น ต้นทุนจากการสูญเสียผลิตภาพในการทำงาน รวมไปถึงต้นทุนที่เกิดจากการแบกรับภาระงาน ความเครียด รวมถึงการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจหรือความล่าช้าในการให้บริการ และยังส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งเป็นระบบที่ใหญ่ขึ้นไปอีกด้วย การทำให้พนักงานมีความรู้สึกจงรักภักดีต่อองค์กร จึงเป็นเงื่อนไขประการสำคัญที่ทำให้องค์กรสามารถคงขีดความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่ง

ทั้งนี้ นักวิชาการและนักวิจัยก็ต่างเสนอความเห็นไว้ในทำนองเดียวกันว่า เมื่อใดที่บุคลากรมีความจงรักภักดีน้อยลง ก็จะส่งผลให้เกิดความต้องการอยากออกไปจากองค์กร หรือมีความต้องการคงอยู่กับองค์กรลดน้อยลง โดยอาจจะมีการโอนย้ายไปทำงานในตำแหน่งอื่นหรือลาออกไปจากองค์กร แต่หากบุคลากรนั้นไม่ได้ลาออกไปจากองค์กร ก็จะมีแนวโน้มทำงานให้กับองค์กรอย่างไม่ตั้งใจ ไม่ทุ่มเททำงาน ขาดความกระตือรือร้น และหาโอกาสที่จะย้ายไปร่วมงานกับองค์กรอื่นที่เขาคิดว่าดีกว่า ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่พึงประสงค์อย่างยิ่งสำหรับองค์กร ขณะที่พนักงานที่มีความจงรักภักดีต่อองค์กร จะเรียนรู้ระหว่างการปฏิบัติงานว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ตนเองทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเพิ่มคุณค่าให้แก่ลูกค้ามากขึ้น

HR จึงควรหันมาใส่ใจอย่างมากกับเรื่องเก่าที่อาจจะเล่าใหม่อย่างเรื่อง Employee Loyalty ที่ผมนำเสนอนี้ 

ความจงรักภักดีต่อองค์กร (Employee Loyalty หรืออาจจะเรียกว่าเป็น Organizational Loyalty ก็ไม่ว่ากันครับ) เป็นแนวคิดที่เหล่านักวิชาการ นักวิจัยและนักบริหารในองค์กรต่างหันมาให้ความสนใจศึกษาและค้นหาแนวทางในการบริหารทรัพยากรบุคคลกันอย่างแพร่หลายในระยะเวลาราวสองทศวรรษที่ผ่านมา

ผู้รู้ท่านบอกไว้ว่า องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันอย่างสูงนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรที่พนักงานมีความจงรักภักดีในระดับสูง ซึ่งก็เท่ากับว่า องค์กรจะต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการพัฒนาและเสริมสร้างให้พนักงานมีคุณลักษณะของความจงรักภักดีต่อองค์กรอย่างเต็มกำลัง เพราะหากทำได้ก็จะส่งผลดีให้พนักงานมีความเต็มใจที่จะเสียสละ อุทิศตนทำงานอย่างมุ่งมั่น เพื่อให้เกิดผลงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีขวัญกำลังใจในการทำงานอย่างสูง  ยอมรับเป้าหมาย คุณค่าหรือค่านิยมขององค์กร มีเจตจำนงที่จะเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มุ่งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจากการที่เขาทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการทำงานให้กับองค์กรอย่างเต็มกำลัง มีเจตคติด้านบวกต่อผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน มีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น ทำงานกับองค์กรในระยะเวลายาวนาน ไม่มีความตั้งใจที่จะลาออกจากองค์กร รวมทั้งการให้บริการที่ประทับใจสูงสุดต่อลูกค้า ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ เกิดการซื้อสินค้า/บริการซ้ำ กระทั่งนำไปสู่ผลกำไรที่ดีในการดำเนินธุรกิจ

อันที่จริงนั้น แนวคิดความจงรักภักดีต่อองค์กร กล่าวกันว่าได้รับการพัฒนามาจากแนวคิดความจงรักภักดีของลูกค้า (Customer loyalty) พร้อมกับได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า ความจงรักภักดีต่อองค์กร เป็นหนึ่งในเรื่องที่มีความสำคัญต่อองค์กรไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าความจงรักภักดีต่อลูกค้าที่มีต่อองค์กรหรือผลิตภัณฑ์/บริการขององค์กรเอาเสียเลย

อย่างไรก็ตาม แม้ความจงรักภักดีต่อองค์กรจะได้รับการศึกษากันอย่างกว้างขวางในสังคมวิชาการตะวันตกก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปรากฎจากข้อเสนอของนักวิชาการท่านใดว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่

ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 นักวิชาการบางท่านอธิบายไว้ว่า ความจงรักภักดีต่อองค์กร เป็นการที่พนักงานปฏิเสธที่จะเปลี่ยนงานแม้เขาจะได้รับข้อเสนอจากองค์กรใหม่ซึ่งให้ค่าตอบแทน เงื่อนไขหรือสภาพการจ้างงานในบางประการที่ดีกว่าเดิม

ต่อมาในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 ก็มีอีกบางท่านบอกว่า ความจงรักภักดีที่พนักงานมีต่อองค์กรนั้น เป็นความรู้สึกและการแสดงออกถึงความเคารพรักต่อผู้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาที่มีลูกน้องที่มีความจงรักภักดี ก็จะสามารถบริหารจัดการ รวมทั้งกระตุ้นให้พนักงานมีความพยายามในการปฏิบัติงานมากขึ้น

ภายหลังต่อมา ความจงรักภักดีต่อองค์กร ได้รับการให้ความหมายเน้นไปในบริบทของความรู้สึกและความตั้งใจคงอยู่กับองค์กรโดยไม่เปลี่ยนงานใหม่เสียมากกว่า 

สำหรับผมมองว่า ความจงรักภักดีต่อองค์กรนั้น หมายถึง การที่พนักงานเป็นผู้ที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ รับรู้และยอมรับเอาเป้าหมาย คุณค่าและแผนการดำเนินงานขององค์กรมาสู่การปฏิบัติงาน รักษาผลประโยชน์ขององค์กร ให้การสนับสนุนองค์กรเพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่ดีและการแนะนำให้บุคคลอื่นได้รู้จักองค์กร มีส่วนร่วมในการทำงานและการมองหาโอกาสในการปรับปรุงพัฒนางานในหน้าที่ที่รับผิดชอบและของหน่วยงาน

ส่วนคุณสมบัติคนทำงานที่ HR ต้องสรรหาเข้ามาในองค์กร และการที่จะดูว่าพนักงานเก่ามีความจงรักภักดีต่อองค์กรหรือไม่และเพียงใดนั้น สามารถพิจารณาได้จาก 5 องค์ประกอบ (Components) ต่อไปนี้

1.ความรู้สึกเป็นเจ้าของ หมายถึง การมีความภาคภูมิใจในการเป็นสมาชิกขององค์การและมีความรู้สึกเกี่ยวพันกับงานที่รับผิดชอบ จึงเต็มใจที่จะทำงานกับองค์กรต่อไป และไม่อยากจะลาออกจากองค์กร  

2.การยอมรับองค์กร หมายถึง การรับรู้และยอมรับค่านิยมหรือคุณค่าหลัก (Core Value)  และเชื่อมั่นว่าเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่องค์กรกำหนดไว้ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้บริษัทสามารถเติบโตทางธุรกิจได้

3.การรักษาประโยชน์องค์กร หมายถึง การมุ่งรักษาผลประโยชน์ขององค์กร โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับมากกว่าประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ การบำรุงรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์ ทรัพย์สินขององค์กรอย่างประหยัดและเกิดความคุ้มค่าสูงสุด

4.การสนับสนุนองค์กร หมายถึง การสร้างและกล่าวถึงชื่อเสียงภาพลักษณ์ที่ดี การอธิบายและให้ข้อมูลด้านบวกเมื่อองค์กรถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่น รวมทั้งแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักองค์กร

5.การมีส่วนร่วมในงาน หมายถึง การมองหาโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนางาน รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับการให้ข้อเสนอแนะและตัดสินใจเกี่ยวกับแผนปฏิบัติงานของหน่วยงาน

 

ความหมายของความจงรักภักดีต่อองค์กรที่ผมเสนอมานั้น ทดสอบกันด้วยการเก็บข้อมูลการวิจัยและวิเคราะห์ความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้างหรือ Construct Validity ด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (Confirmatory Factor Analysis) ซึ่งเป็นกระบวนการวิจัยที่เชื่อถือได้ แต่ผลจากการวิเคราะห์ทดสอบทางสถิติจะเป็นอย่างไรนั้น อย่าเพิ่งไปดูเลยครับ 555

แต่ไม่ว่าความจงรักภักดีต่อองค์กรจะเป็นอย่างไร HR ก็ต้องใส่ใจเป็นสำคัญที่สุดครับ

 

รวมเรื่องราวน่ารู้ในงาน HR จากวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาบุคลากร ผู้ผ่านประสบการณ์งานบริหาร HR จากองค์กรในโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ

สอบถามข้อมูลด้าน HR หรือแลกเปลี่ยนมุมมองได้ที่ 0-2514-7472 กด 6

หรือ E-mail : [email protected] (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น)

 

Credit  :  ดร.ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต  (Professional Training & Consultancy)

JOBBKK.COM © Copyright All Right Reserved

Jobbkk has only one website. In no case, we have an affiliate, agent or appointee. Please do not rely on any other website, email, telephone, SMS or other contacting channel. If it is a case, we will prosecute under a lawsuit in the upmost as allowed. DBD

Top